ยางนา ชื่อวิทยาศาสตร์Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dipterocarpus gonopterus Turcz., Dipterocarpus incanus Roxb., Dipterocarpus philippinensis Foxw.) จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)[1]
สมุนไพรยางนามีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยางกุง (เลย), ยางควาย (หนองคาย), ชันนา ยางตัง (ชุมพร), ยางขาว ยางแม่น้ำ ยางหยวก (ภาคเหนือ), ยางใต้ ยางเนิน (ภาคตะวันออก), ยาง (ภาคกลาง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กาตีล (เขมร-ปราจีนบุรี), ขะยาง (ชาวบน-นครราชสีมา), จะเตียล (เขมร), เยียง (เขมร-สุรินทร์), จ้อง (กะเหรี่ยง), ทองหลัก (ละว้า), ราลอย (ส่วย-สุรินทร์), ลอยด์ (โซ่-นครพนม), ด่งจ้อ (ม้ง), เห่ง (ลื้อ) เป็นต้น[1],[5],[6],[7]
หมายเหตุ: ต้นยางนาเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดอุบลราชธานี[2]
ลักษณะของยางนา
- ต้นยางนาจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบหรือผลัดใบระยะสั้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นได้ถึง 50 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ โคนต้นมักเป็นพูพอน ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง เปลือกต้นเกลี้ยงเป็นสีออกเทาอ่อน หลุดลอกออกเป็นชิ้นกลม ๆ เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลแดง เสี้ยนตรง เนื้อหยาบ ส่วนตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนและมีรอยแผลใบเห็นได้ชัด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด (เด็ดปีกออกก่อนนำไปเพาะ เมล็ดจะงอกภายในเวลา 12 วัน และภายในเวลา 7 เดือน ต้นกล้าจะมีความสูงได้ประมาณ 30-35 เซนติเมตร และพร้อมที่จะย้ายไปปลูกได้) เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิด ชอบดินที่มีอินทรียวัตถุค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ความชื้นปานกลาง และแสงแดดแบบเต็มวัน (หลังต้นอายุ 1 ปี) มักขึ้นในป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ตามที่ต่ำชุ่มชื้นใกล้แม่น้ำลำธารทั่วไป และตามหุบเขาทั่วทุกภาคของประเทศ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50-400 เมตร ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่บังกลาเทศ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนามใต้ และมาเลเซีย
- น้ำมันยางจากต้นสามารถนำมาใช้โดยตรงเพื่อใช้ผสมชันไม้อื่น ๆ ใช้ยาเครื่องจักสานกันน้ำรั่ว ยาแนวเรือเพื่ออุดรอยรั่ว ทาไม้ ใช้ผสมขี้เลื่อยจุดไฟ หรือใช้ทำไต้จุดไฟส่องสว่าง (ของใช้สำหรับจุดไฟให้สว่าง หรือทำเป็นเชื้อเพลิง ทำด้วยไม้ผุหรือเปลือกเสม็ดคลุกกับน้ำมันยาง แล้วนำมาห่อด้วยใบไม้เป็นดุ้นยาว ๆ หรือใส่กระบอก)[1]ใช้เดินเครื่องยนต์แทนน้ำมันขี้โล้[2]ใช้ทำน้ำมันชักเงา ฯลฯ หรือนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น สีทาบ้าน หมึกพิมพ์[3]
- น้ำมันยางเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านก็ยังมีการเก็บหากันอยู่ แต่ก็ยังไม่พอใช้จนต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพิ่มเติม[3]
- เนื้อไม้ยางนาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้ดี ยิ่งเมื่อนำมาอาบน้ำยาให้ถูกต้องก็จะช่วยทำให้มีความทนทานมากขึ้น[2]สามารถนำไปใช้กับงานภายนอกได้ทนทานนับ 10 ปี ด้วยเหตุที่ไม้ยางนาเป็นไม้ขนาดใหญ่ เปลาตรง สูง และไม่ค่อยมีกิ่งก้าน การตัดไม้ยางนามาใช้จึงได้เนื้อไม้มาก โดยเนื้อไม้ที่ได้จะมีความแข็งปานกลาง สามารถนำมาเลื่อยไสกบตกแต่งให้เรียบได้ง่าย ด้วยเหตุนี้จึงมีการใช้ประโยชน์จากไม้ยางนากันมาตั้งแต่อดีต โดยนิยมนำมาเลื่อยทำเสาบ้าน รอด ตง ไม้พื้น ไม้ระแนง ไม้คร่าว โครงหลังคา ฝ้าเพดาน เครื่องเรือนต่าง ๆ ทำรั้วบ้าน ทำเรือขุด เรือขนาดย่อม แจว พาย กรรเชียง รวมไปถึงตัวถังเกวียน ถังไม้ หมอนรองรางรถไฟ ฯลฯ แต่ในปัจจุบันการใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ยางนาที่สำคัญคือการนำไปทำเป็นไม้อัดและแผ่นใยไม้อัด จนไม่เพียงพอต่อการใช้งาน และต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศบางส่วนด้วย[3],[4],[5]
- ลำต้นใช้ทำไม้ฟืน ถ่านไม้[6],[7]
- ไม้ยางนาจะขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่มีเชื้อเห็ดราไมคอร์ไรซาส์ (Micorrhyzas) ซึ่งเป็นตัวเอื้อประโยชน์ในการเจริญเติบโต โดยเชื้อราเหล่านี้จะสร้างดอกเห็ดเมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงฝนแรกของทุกปีจะมีดอกเห็ดหลายชนิดให้หาเก็บมารับประทานได้มากมาย เช่น เห็ดชะโงกเหลือง เห็ดเผาะ เห็ดน้ำหมาก เห็ดยาง เป็นต้น[3],[4]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามสองฝั่งถนน เพื่อความสวยงาม และปลูกเพื่อประโยชน์ทางด้านนิเวศ ให้ร่มเงา กำบังลม ให้ความชุ่มชื้น ควบคุมอุณหภูมิในอากาศ ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ฯลฯ[4]