ต้นยางนา พบได้ทั่วไปในประเทศไทย ซึ่งยืนยันได้จากชื่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ที่มีคำว่า “ยาง” มีอยู่ในทุกภาคของประเทศ เช่น อำเภอท่ายาง ท่าสองยาง ยางตลาด และยางชุมน้อย เป็นต้น และยางนา ไม้มีค่าคู่เมืองไทยมาช้านาน
ปัจจุบัน ปริมาณไม้ยางนาในประเทศลดลงมาก เนื่องจากการบุกรุกทำลายป่า เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่อุดมสมบูรณ์ใกล้ๆ แหล่งน้ำที่มีไม้ยางนาขึ้นอยู่ จะเป็นที่ต้องการเพื่อการเพาะปลูกมาก การเจาะโคนไม้ยางเพื่อเอาน้ำมันยาง โดยใช้ไฟสุมและเผา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำลายแหล่งพันธุกรรมไม้ยางนา จึงควรที่มีการอนุรักษ์และส่งเสริมการปลูกกันต่อไป
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ลำต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 40-50 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกหนา เรียบ สีเทาหรือเทาปนขาว โคนต้นมักเป็นพูสูงขึ้นมาเล็กน้อย ขนาดเส้นรอบวงเพียงอกของต้นที่มีอายุมาก ระหว่าง 4-7 เมตร หรือมากกว่า ยอดและกิ่งอ่อนมีขนทั่วไป และมีรอยแผลใบปรากฏชัดตามกิ่ง รูปทรงเรือนยอดเป็นพุ่มกลม แน่นทึบ
ใบใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบมนถึงแหลม โคนใบมน เนื้อใบหนา ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ยกเว้นเส้นกลางใบ ผิวใบด้านล่างมีขนนุ่ม ใบอ่อนมีขนสีเทาประปราย
ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ ตามซอกใบและปลายกิ่ง แต่ละช่อ มี 3-8 ดอก สีขาวอมชมพู กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย และมีครีบตามยาว 5 ครีบ ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีกลีบดอก 5 กลีบ ปลายกลีบบิดเบี้ยวแบบกังหัน ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
ผลแบบผลแห้ง ตัวผลกลมหรือรูปไข่ มีครีบยาว 5 ครีบ ด้านบนมีปีก 2 ปีก ปลายมน มีเส้นตามยาว 3 เส้น ปีกอีก 3 ปีก มีลักษณะสั้นมากคล้ายหูหนู ผลแก่ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
นิเวศวิทยาพบขึ้นในที่ลุ่มต่ำริมห้วย ลำธาร และตามหุบเขาทั่วทุกภาคของประเทศไทย ในระดับความสูงของน้ำทะเล เฉลี่ยคือ 350 เมตร ในต่างประเทศพบที่บังกลาเทศ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนามใต้ และมาเลเซีย
การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
ปลูกยางนา สร้างแหล่งน้ำมันบนดิน
ทุกวันนี้ มีคนไทยจำนวนมากที่เดินตามรอยพ่อ น้อมนำศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นการพึ่งพาตัวเอง และต่อยอดนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ในการเกษตร ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ โดยปลูกต้นยางนา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทดแทนน้ำมันดีเซล โดยนำไปใช้ทำเกษตรแบบพอเพียง น้ำมันจากต้นยางนา สามารถผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ทดแทนน้ำมันดีเซลได้ดี โดยเฉพาะเครื่องจักรกลการเกษตรรอบต่ำ เช่น ใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลเติมรถไถนาเดินตามได้ 100%
ทั้งนี้ ผลการวิจัยพบว่าน้ำมันจากต้นยางนาสามารถลดต้นทุนได้ 100% ต้นยางนาสามารถเริ่มเจาะน้ำมันได้เมื่ออายุ 15-20 ปี วิธีการไม่ยุ่งยาก เริ่มจากการนำสว่านไฟฟ้า 5 หุน เจาะลงไปในเนื้อต้นยางนาเฉียงขึ้น 45 องศา เจาะห่างจากพื้น 30-50 เซนติเมตร ลึก 15-20 เซนติเมตร จากนั้นใช้ขวดพลาสติกที่ต่อเป็นจุกสายยางประดิษฐ์ขึ้นเองเสียบเข้ากับรูที่เจาะไว้ แล้วนำดินน้ำมันปิดเพื่อไม่ให้สายหลุด ให้น้ำมันยางนาไหลลงขวด ทิ้งไว้ 2-3 วัน จะได้น้ำมันประมาณ 500-600 มิลลิลิตร และสามารถย้ายไปจุดอื่นได้อีก
ส่วนรูแผลจากการเจาะก็จะเอากิ่งยางนาตอกอุดแทน ใช้เวลา 1 เดือนแผลที่เจาะจะประสานเซลล์เป็นเนื้อไม้เช่นเดิม เป็นการคืนเนื้อไม้เป็นธรรมชาติ ซึ่งน้ำมันจากต้นยางนาคล้ายน้ำมันดีเซล สามารถนำไปเติมเครื่องจักรกล รถไถนาเดินตาม เครื่องสูบน้ำ เครื่องตัดหญ้าได้เลย ปัจจุบันเราใช้น้ำมันดีเซล 1 ลิตร สามารถทำงานได้ 1 ชั่วโมง แต่หากผสมน้ำมันยางนาลงไปกับดีเซล อัตราส่วน 50 ต่อ 50 เครื่องยนต์สามารถทำงานได้นานถึง 3 ชั่วโมง เพราะน้ำมันยางนาเป็นน้ำมันที่ให้ค่าพลังงานที่สูง อย่างไรก็ตาม ที่ศูนย์ในจังหวัดนครพนมได้ทดลองใช้น้ำมันดังกล่าวมานานกว่า 2 ปีแล้ว และที่มีการทดลองใช้กับรถไถนาเดินตามเครื่องยนต์รอบต่ำ ก็ไม่มีปัญหา
สรรพคุณทางสมุนไพร ของต้นยางนา
น้ำต้มจากเปลือกเป็นยาบำรุงร่างกาย ฟอกเลือด บำรุงโลหิต แก้ตับอักเสบ และใช้ทาถู นวดขณะร้อนๆ เป็นยาแก้ปวดตามข้อ
น้ำมันยางใช้ผสมกับเมล็ดกุยช่ายซึ่งคั่วให้เกรียม และบดให้ละเอียด ใช้เป็นยาอุดฟัน แก้ฟันผุ
เมล็ดและใบต้มใส่เกลือ ใช้อมแก้ปวดฟัน ฟันโยกคลอน น้ำมันยาง ผสมกับแอลกอฮอล์ รับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้มุตกิดระดูขาวของสตรี หรือใช้จิบเป็นยาขับเสมหะก็ได้
ใบและยางรับประทานเป็นยาขับเลือด ทำให้เป็นหมัน น้ำมันยางดิบ มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายหัวริดสีดวงทวารหนักให้ฝ่อ น้ำมันยางจากต้น มีสรรพคุณเป็นยาสมานแผล ห้ามหนอง ใช้เป็นยาทาแผลเน่าเปื่อย แผลมีหนอง แผลโรคเรื้อน แก้โรคหนองใน และเป็นยากล่อมเสมหะ
ประโยชน์ของเนื้อไม้เนื้อไม้มีสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเทา เสี้ยนตรง เนื้อไม้หยาบ แข็งปานกลาง เลื่อย ไสกบตกแต่งให้เรียบได้ง่าย จึงนิยมนำมาใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ทำฝาบ้าน ทำไม้คร่าว ไม้ระแนง โครงหลังคา ทำพื้น เพดาน รอด ตง และเครื่องเรือนต่างๆ ใช้ทำเรือขุด เรือขนาดย่อม ไม้หมอนรองรางรถไฟ
ประโยชน์อื่นๆพบว่า เป็นตัวเอื้อประโยชน์ในการเจริญเติบโตของเชื้อเห็ดราไมคอร์ไรซ่า ทั้งในป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ซึ่งเรียกว่า เห็ดยาง นำไปเป็นอาหารได้ น้ำมันยางผสมกับชัน ใช้ทาไม้ เครื่องจักสาน ยาเรือ และใช้เดินเครื่องยนต์แทนน้ำมันขี้โล้ บางท้องที่ใช้น้ำมันจากต้นยางทำขี้ไต้จุดไฟ