ต้นเสลา
ต้นเสลา เชื่อว่าหลายๆ คน คงอ่านออกเสียงว่าต้น เส-ลา ซึ่งผิด เพราะความจริงแล้วต้องอ่านออกเสียงว่าต้น สะ-เหลา ถึงจะถูกต้อง ต้นเสลามีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ต้นอินทราชิต” ต้นไม้ผลัดใบที่มีขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ โดยต้นเสลาเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานปลูกเพื่อเป็นมงคลแก่ชาวจังหวัดนครสวรรค์ และวันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับต้นเสลาหรือต้นอินทรชิตกันให้มากขึ้น ทั้งลักษณะทั่วไปของต้นเสลา ประโยชน์ การปลูก การดูแลรักษา และการขยายพันธุ์ไปจนถึง เรื่องราวความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับต้นไม้ชนิดนี้ ถ้าอยากรู้แล้วตามไปชมกันเลย
ข้อมูลทั่วไปของต้นเสลา
- ชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ Lagerstroemia loudonii Teijsm. & Binn.
- ชื่อสามัญ Thai bungor
- ชื่อวงศ์ LYTHRACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นเสลา
ต้น
ต้นเสลา เป็นต้นไม้ที่มีขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ โดยมีความสูงประมาณ 10-20 เมตร และเป็นไม้ผลัดใบมีเรือนยอดเป็นพุ่มแน่น กิ่งห้อยย้อย ลำต้นกลม แข็งแรงในระดับหนึ่ง เปลือกมีสีเทาแกมดำ มีรอยแตกเป็นริ้วยาวตลอดลำต้น
ใบ
ต้นเสลามีลักษณะเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม ใบมีรูปขอบขนาน ขนาดความกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร และยาว 16-25 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบแหลม ใบมีสีเขียว ผิวใบมีขนปุยอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ทั่ว ทั้ง 2 ด้าน
ดอก
ดอกของต้นเสลาจะมีสีม่วงอมชมพูสวยงาม ซึ่งจะออกดอกบริเวณกิ่งแก่หรือปลายกิ่ง และออกดอกเป็นช่อรูปทรงกระบอก ช่อดอกยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ดอกประกอบไปด้วย กลีบรอง กลีบเลี้ยงปลายแยกออกมี 6 แฉก และมีก้านช่อดอก ซึ่งจะมีขนอ่อนนุ่มสีเหลืองปกคลุม กลีบดอกจะมีประมาณ 6-8 กลีบ มีเกสรตัวผู้อยู่จำนวนมาก เมื่อดอกบานจะมีขนาดความกว้างประมาณ 6-8 เซนติเมตร และต้นเสลาจะออกดอกช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม
ผล
ต้นเสลามีผลรูปทรงกลม ยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ผิวนอกผลแข็ง ผลมีสีเขียวอ่อน เมื่อผลสุกจะมีสีน้ำตาล และเมื่อผลแห้งจะแตกออก ภายในผลมีเมล็ดอยู่จำนวนมาก เมล็ดแบนมีสีน้ำตาลอมเหลือง ต้นเสนาจะติดผลในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม
ต้นเสลา สามารถพบเจอได้ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าชายหาด และป่าดิบ โดยพบส่วนใหญ่ทางภาคกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ไปจนจึงภาคใต้ของประเทศไทย
ประโยชน์ของต้นเสลา
- ช่วยสร้างร่มเงา สร้างความร่มรื่นให้กับบริเวณโดยรอบ และด้วยความที่ต้นเสนามีดอกสีม่วงอมชมพูสวยงาม จึงนิยมปลูกไว้เพื่อประดับตกแต่งสวน
- สามารถนำเนื้อไม้มาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เนื่องจากเนื้อไม้ของต้นเสนามีความแข็งแรงในระดับหนึ่ง นิยมนำมาทำเป็นเครื่องไม้เครื่องมือ ทำพื้น ตง รอด หรือใช้ทำเป็นไม้แกะสลักให้ดูสวยงาม
สรรพคุณของต้นเสลา
- ต้นเสนามีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรไทย สามารถรักษาโรคได้หลากหลายอาการ เช่น เปลือกมีสรรพคุณช่วยสมานแผล และแก้อาการท้องเสีย เป็นต้น โดยสามารถนำเปลือกไปตากแห้งนำมาต้มดื่ม หรือนำไปบดเป็นผงละเอียดนำมาโรยตรงแผล ช่วยบรรเทาอาการแผลอักเสบ
ต้นเสลากับความเชื่อของคนไทย
ต้นเสลา นอกจากมีชื่อเรียกว่าต้นอินทรชิตแล้ว ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น ต้นตะแบกขน ต้นตะเกรียบ เป็นต้น คนไทยมีความเชื่อว่าต้นเสลาเป็นไม้มงคล หากปลูกไว้ประจำบ้านจะช่วยเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลทำให้บ้านนั้นมีฐานะสูงขึ้น และด้วยความที่ต้นเสลาถูกเรียกที่ชื่อหนึ่งว่า ต้นตะแบกขน คำว่า แบก คือ การแบกไม่ให้ตกลงมา ช่วยทำให้ฐานะมีความมั่นคง แข็งแรง แข็งแกร่ง หากปลูกไว้แล้วจะช่วยทำให้ชีวิตไม่ตกต่ำ มีความเจริญรุ่งเรือง ชีวิตพบเจอแต่สิ่งๆ ดี อีกทั้งต้นเสลายังเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดนครสวรรค์ โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานกล้าไม้ให้แก่ชาวจังหวัดนครสวรรค์ ปลูกเพื่อเป็นสิริมงคลในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 50 ปี นอกจากต้นเสลาจะเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดนครสวรรค์แล้ว ยังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลกอีกด้วย
การปลูก การดูแลรักษาและการขยายพันธุ์ต้นเสลา
ต้นเสลามีถิ่นกำเนิดอยู่ทางเอเชียเขตร้อน สำหรับการปลูกแนะนำให้ปลูกในดินร่วนซุย ต้นเสลาไม่ชอบน้ำท่วมขัง แต่ชอบแสงแดดจัด ควรปลูกในที่กลางแจ้งที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก นิยมปลูกข้างบ้าน ในสวน หรือริมรั้ว ระยะการปลูกที่เหมาะสมควรมีระยะห่างกันประมาณ 2-5 เมตร เพื่อให้ต้นเสลาสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่และไม่แย่งอาหารกัน แต่หากปลูกเรียงเป็นแถวแนวยาว ริมถนนควรมีระยะการปลูกไม่น้อยกว่า 8 เมตร ขนาดความลึกของหลุมจะต้องลึกและกว้างไม่น้อยกว่า 80-100 เซนติเมตร
สำหรับการขยายพันธุ์นิยมมากที่สุดคือ การเพาะเมล็ด เมล็ดจะงอก โดยอาจใช้ระยะเวลาประมาณ 20 วัน และเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 4 เดือน ต้นเสลาจะมีความสูงเฉลี่ย 20 เซนติเมตรโดยประมาณ เมล็ด 1 กิโลกรัมจะมีเมล็ดประมาณ 170,000 เมล็ด เปอร์เซ็นต์การงอกคือ 75 % ส่วนการดูแลรักษาต้นเสลา แนะนำให้ใช้ปุ๋ยคอก ทรายหยาบ แกลบและขี้เถ้าผสมกันในอัตราส่วน 3 : 1 : 1 : 1 รดน้ำใช้ชุ่ม เมื่อปลูกลงหลุมเสร็จแล้ว เมื่อต้นเสลาเจริญเติบโตควรทำการตัดแต่งกิ่งตามความเหมาะสม
ข้อควรระวัง : เนื่องจากต้นเสลาเป็นไม้ทรงพุ่มแน่น ยืนต้นสูง เมื่อต้นเกิดการผลัดใบจะทิ้งใบลงสู่พื้นเต็มบริเวณโคนต้น หลังจากนั้นดอกจะออกตามธรรมชาติ หลังจากดอกออกแล้วเมื่อถึงเวลาดอกจะร่วงโรยลงสู่พื้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากใครคิดจะนำต้นเสลาไปปลูกบริเวณรอบบ้าน อาจจะต้องมีวิธีการดูแล ทำความสะอาดพื้น และต้องทำใจกับใบและดอกที่ร่วงโรย อาจทำให้พื้นดูไม่สะอาด
หากใครที่ต้องการซื้อต้นเสลามาปลูก สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านจำหน่ายขายพันธุ์ไม้ โดยทั่วไปแล้ว หากขนาดลำต้นเสลามีลำต้นขนาด 2 นิ้ว และมีความสูงประมาณ 1.5- 2 เมตร จะมีราคาขายอยู่ประมาณ 300-500 บาทต่อต้น แต่หากเป็นต้นกล้าที่มีความสูงประมาณ 40-50 เซนติเมตร จะมีราคาขายอยู่ประมาณ 100-150 บาทต่อต้น สำหรับการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ก็จะสะดวกสบายไปอีกแบบ ข้อแนะนำคือ ควรมองหาแหล่งขายพันธุ์ไม้ใกล้ๆ เรา เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง เพราะยิ่งไกลมากเท่าไหร่ ต้นทุนค่าขนส่งก็จะแพงขึ้นตามระยะทาง การสั่งซื้อกล้าไม้ทุกชนิดหากต้องการให้ทางร้านที่จำหน่ายพันธุ์ไม้ บริการส่งถึงที่ เพื่อความคุ้มค่าอาจต้องสั่งจำนวนครั้งละมากๆ นอกจากนั้นยังอาจต้องคำนึงเรื่องของความน่าเชื่อถือของร้านจำหน่ายพันธุ์ไม้ด้วย รวมถึงกระบวนการขนส่งที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ต้นเสลา เป็นต้นไม้อีกหนึ่งชนิด ที่นิยมปลูกประดับสวน เพื่อความสวยงาม และสร้างร่มเงาทำให้เกิดความร่มรื่น อีกทั้งยังมีประโยชน์หลากหลาย สามารถนำเนื้อไม้มาแปรรูปใช้งานได้ตามความเหมาะสม เนื่องจากเนื้อไม้ของต้นเสลามีความแข็งแรงในระดับหนึ่ง แต่ไม่นิยมนำมาทำเป็นเสาบ้านหรือเฟอร์นิเจอร์ ที่สำคัญต้นเสลายังมีประโยชน์ในด้านยาสมุนไพรไทยสามารถรักษาโรคได้หลากหลายอาการ และมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวความเชื่อของคนไทย หากบ้านไหนปลูกต้นเสนาไว้ประจำบ้านจะช่วยเสริมความความเป็นสิริมงคลให้แก่บ้าน ทั้งผู้ปลูก หรือคนในครอบครัว
ปัจจุบันต้นเสลานิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย แม้จะเป็นต้นไม้มงคลหรือพันธุ์ไม้พระราชทานปลูกเพื่อเป็นมงคลแก่ชาวจังหวัดนครสวรรค์ แต่ก็ได้รับความนิยมปลูกทั่วประเทศไทย การปลูกและการดูแลรักษาสามารถทำได้ไม่ยาก ต้นเสลาเป็นต้นไม้ที่ดูแลง่ายสามารถเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพดิน ยิ่งหากเป็นดินร่วนซุยยิ่งมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี อีกทั้งยังเป็นต้นไม้ที่สามารถทนทานต่อสภาพอากาศ ชอบแสงแดดจัด เหมาะกับการปลูกในประเทศไทย หากนำเทคนิคการปลูก การขยายพันธุ์ ตลอดจนเทคนิควิธีการดูแลรักษาตามที่เราได้แนะนำไปแล้วในข้างต้น เชื่อว่าจะช่วยให้ต้นเสลามีอัตราการรอดตายสูงและสามารถเจริญเติยโตได้อย่างรวดเร็ว