ต้นอุตพิตขนาดต้นสูง25-30กระถางมี3ต้น
ข้อมูลสินค้า
ราคา
35.00 บาท
ขายแล้ว
1 ชิ้น
ร้านค้า
สมุนไพรอุตพิต มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บอนแบ้ว (เชียงใหม่), มะโหรา (จันทบุรี), อุตพิษ อุตตพิษ (ไทย)[1], ขี้ผู้เฒ่า (อีสาน) เป็นต้น บางตำราเขียนว่า "อุตพิด"
ลักษณะของอุตพิต
ต้นอุตพิต จัดเป็นไม้ล้มลุก ที่มีความสูงของต้นประมาณ 10-45 เซนติเมตร จัดเป็นว่านที่มีหัวขนาดเล็กอยู่ใต้ดิน เมื่อถึงฤดูฝนก็จะงอกขึ้นมาใหม่ ลักษณะของหัวค่อนข้างกลมหรือแป้นเล็กน้อย วัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ประมาณ 1.2 เซนติเมตร เนื้อในหัวเป็นสีขาวหรือสีนวล มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ เป็นพืชที่ชอบอยู่ในพื้นที่ร่มเย็น พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย มักพบขึ้นทั่ว ๆ ไปตามที่ร่มเย็น พบได้ทุกภาคของประเทศไทย[1],[2]
Monetized by optAd360

ใบอุตพิต ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นวงบริเวณผิวดิน แผ่นใบแผ่ย่นเป็นลอนเล็กน้อย ใบเป็นรูปไข่ปลายแหลมหรือเป็นรูปลูกศรแกมรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรือหยักเว้าแบ่งออกเป็นแฉก 3 แฉก โคนใบเว้าลึกเข้าหาก้านใบ มีความกว้างและยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวมัน มีลายหรือมีจุดประสีม่วง ก้านใบยาวประมาณ 37 เซนติเมตร บ้างว่ายาวได้เกือบ 1-2 เมตร ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของพื้นที่ โดยก้านใบจะเป็นสีน้ำตาลอมแดงหรือเป็นสีแดงอมม่วง บางพันธุ์จะมีลายเป็นประจุดต่าง ๆ ทั่วทั้งก้านคล้ายกับก้านต้นบุก ชนิดนี้จะหาได้ยากมาก ชนิดที่ก้านใบเป็นสีเขียวจะมีเยอะกว่า[1],[2]

ดอกอุตพิต ออกดอกเป็นช่อ แทงมาจากหัวใต้ดินขึ้นมาเป็นแท่งยาว ๆ ก้านช่อดอกเป็นสีเลือดนกปนสีน้ำตาลหรือสีแดงเข้ม ช่อดอกมีกาบหุ้มยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร กาบมีสีแดงเข้ม เมื่อดอกบานแล้วจะเห็นดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีขาว ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่ในช่อเดียวกัน โดยดอกเพศเมียจะอยู่ตรงโคนแท่ง เหนือดอกเพศเมียเป็นดอกฝ่อสีขาว ถัดไปเป็นที่ว่าง เหนือที่ว่างจะเป็นดอกเพศผู้สีชมพู เมื่อดอกบานเต็มที่ดอกจะมีกลิ่นเหม็นคล้ายอาจมหรืออุจจาระ จึงไม่นิยมนำมาปลูกตามบ้านทั่วไป แต่จะพบขึ้นเป็นกลุ่มจำนวนมาก ทำให้เวลามีดอกจะส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั่วบริเวณใกล้เคียง แค่เดินเฉียดประมาณ 5-10 เมตร ก็จะรู้ทันทีว่ามีต้นอุตพิตขึ้นอยู่ในแถบนั้น ทำให้คนทางภาคอีสานเรียกว่านอุตพิตว่า "ว่านขี้" โดยดอกอุตพิตจะออกดอกในช่วงฤดูฝน และดอกจะบานในช่วงเย็น[1],[2],[3]


ผลอุตพิต ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปขอบขนาน ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด[1],[2]
สรรพคุณของอุตพิต
ในอินโดนีเซียจะใช้หัวอุตพิตเป็นยาแก้ไอ หอบหืด และวิงเวียน (หัว)[4]
ใช้กินกับกล้วยรักษาโรคปวดท้อง (ราก)[1],[2]
รากอุตพิตมีฤทธิ์เป็นยากระตุ้น ใช้เป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวาร (ราก)[1],[2]
หัวใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยากัดเถาดานในท้อง (อาการแข็งเป็นลำในท้อง) (หัว)[1],[2],[3]
ในบังกลาเทศจะใช้ใบอุตพิตเป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับความผิดปกติในลำไส้ เช่น ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ บิดมีตัว (ใบ)[3]
หัวใช้เป็นยากัดฝ้าหนองและสมานแผล หรือใช้หุงเป็นน้ำมันใส่แผล และใช้ปิ้งกับไฟกินได้ (หัว)[1],[2]
ในตำรายาพื้นบ้านจะใช้ใบอุตพิต ใบหญ้าขัดมอน และข้าวสวย อย่างละเท่ากัน นำมาหมกกับไฟให้สุกแล้วนำมาตำรวมกัน ใช้เป็นยาพอกที่ปากฝี จะช่วยทำให้หัวฝีหลุดออกภายใน 1 คืน (ใบ)[3]
รากใช้เป็นยาทาภายนอกและกินรักษาพิษงูกัดได้ (ราก)[1],[2]
ใบใช้อังกับไฟนำมาประคบแผลน้ำร้อนลวก (ใบ)[4]
ประโยชน์ของอุตพิต
ยอดอ่อน ก้านใบ นำมาเผาไฟ แล้วนำไปทำแกงกะทิได้ กาบใบนำมาหั่นให้เป็นฝอยละเอียดใช้ดองกินเป็นอาหารผักหรือเครื่องเคียง ก้านใบนำมาลอกเปลือกออกใช้แกงส้มแบบเดียวกับแกงบอนหรือนำไปทำแกงคั่วก็ได้ โดยแกงคั่วอุตพิตจะมีเครื่องแกงที่ประกอบไปด้วยกะปิ กระเทียม ขมิ้น ข่า ตะไคร้ พริก มะกรูด และเกลือ นำทั้งหมดมาตำรวมกันให้ละเอียด จากนั้นนำมาลอกเปลือกชั้นนอกออกล้างให้สะอาด หั่นให้เป็นฝอย แล้วนำไปคั่วให้แห้งสนิท นำเครื่องแกงลงผัดกับน้ำกะทิให้หอม ใส่อุตพิตลงไปผัดให้เข้ากัน แล้วใส่ปลาย่างตามลงไป แล้วปรุงรส จากนั้นใส่หัวกะทิตามลงไป ฉีกใบมะกรูดใส่ ก็จะได้แกงอุตพิตที่แสนอร่อย แต่มีเคล็ดลับเล็กน้อยในการแกง คือ ในระหว่างแกงห้ามปิดฝาและห้ามเติมน้ำ เพราะจะทำให้เกิดอาการคันได้[3] ส่วนหัวก็สามารถนำมาปิ้งไฟกินได้เช่นกัน[2]
ใบใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์[4]
แม้ดอกอุตพิตจะมีกลิ่นเหม็น แต่ในต่างประเทศก็มีการซื้อขายเพื่อนำไปปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่ได้รับความนิยมชนิดหนึ่ง เพราะเมื่อออกดอกจะดูมีสีสันสดใสสวยงามยิ่งนัก[3]
ข้อควรระวังในการใช้อุตพิต
อุตพิตสดจัดว่าเป็นพืชพิษชนิดหนึ่ง เพราะเมื่อถูกยางหรือของเหลวจากต้นก็จะทำให้เกิดอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อน อักเสบ และพองเป็นตุ่มน้ำใส หรือถ้าหากเข้าตาก็อาจทำให้ตาบอดได้[3] ก่อนนำมารับประทานจึงควรทำให้สุกเสียก่อน