เหล็กน้ำพี้เป็นชื่อที่ชาวอุตรดิตถ์ใช้เรียกก้อนหินแร่ที่ถูกค้นพบในบริเวณที่มีลักษณะคล้ายบ่อขนาดใหญ่ โดยจะเห็นเป็นก้อนหินที่มีสีน้ำตาลปนดำ คล้ายคลึงกับหินดินดาน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 3-60 นิ้ว และมีน้ำหนักตั้งแต่ 200 กรัมจนถึง 20 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อนำหินดังกล่าวมาเผาด้วยความร้อนสูง 1,000 องศาเซลเซียสขึ้นไป จะมีแร่ไหลออกมาเป็นของเหลวแล้วจับตัวเป็นก้อนเมื่อถูกความเย็น โดยแร่สีดำทึบแสงเหมือนกับนิลนั้นเรียกว่า “ไหลดำน้ำพี้ หรือเหล็กน้ำพี้” ขณะที่ก้อนแร่สีเขียว สีฟ้า และสีขาวใสจะถูกเรียกว่า “ไหลน้ำ”
การที่เหล็กน้ำพี้ และไหลน้ำมีสีแตกต่างกันเกิดขึ้นจากองค์ประกอบของแร่ธาตุภายในชั้นหิน โดยส่วนมากเมื่อเผาหินแล้วมักมีโอกาสได้เหล็กน้ำพี้ที่มีสีดำมากกว่าได้ไหลน้ำที่มีหลายสี โดยเหล็กน้ำพี้นั้นมีองค์ประกอบของแร่ซิลิกาและเหล็กเป็นหลัก ขณะที่ไหลน้ำประกอบไปด้วยแร่ซิลิกา เหล็กและเซอร์เพนทีน ทั้งนี้ หินดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งหายากทางธรณีวิทยาด้วยมีอายุมากกว่า 1,000 ปีและมีการค้นพบเฉพาะในประเทศไทย บริเวณจังหวัดอุตรดิตถ์และทางตอนใต้ของประเทศจีนเท่านั้น