การปลูกถั่วมะแฮะควรเตรียมดินอย่างดี แล้วปลูกถั่วมะแฮะโดยใช้เมล็ดโดยตรง ไม่มีความจำเป็นต้องคลุกเชื้อไรโซเบียม หรือแช่เมล็ดก่อนปลูก
ควรปลูก ช่วงต้นฤดูฝน ขณะดินมีความชื้นพอเพียง (พฤษภาคม - มิถุนายน)
อัตราเมล็ดที่ใช้ปลูก การปลูกแบบหว่านเพื่อไถกลบใช้เมล็ดประมาณ 3 - 5 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกเป็นหลุมใช้เมล็ด 2 - 4 กิโล กรัมต่อไร่
การใช้ประโยชน์
ใบของถั่วมะแฮะจึงนำมาใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดินได้เป็นอย่างดี จึงนิยมปลูกเป็นพืชแซม เช่น แซมกับธัญญพืช แซมกับถั่วลิสง โดยใช้ถั่วลิสง 6 แถว แซมด้วยถั่วมะแฮะ 1 แถว ใช้เป็นพืชร่มเงากับพืชยืนต้นในช่วงแรก ๆ 2 – 3 ปี เช่น ไม้ผล, ชา, กาแฟ, โกโก้
ในภาคเหนือ ใช้ถั่วมะแฮะปลูกร่วมกับกระถินในอัตราเมล็ด 1 : 1 แล้วนำไปโรยเป็นแถวขวางความลาดเท ระยะห่างของแถวตามค่าต่างระดับในแนวดิ่ง 1 – 3 เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ซึ่งถั่วมะแฮะจะโตได้เร็วกว่ากระถินในระยะ 1 – 2 ปีแรกหลังจากนั้นถั่วมะแฮะจะตายคงเหลือแต่แนวกระถินเป็นแนวถาวรต่อไป ถั่วมะแฮะสามารถใช้เป็นพืชอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มโปรตีนในอาหารสัตว์ ลำต้นใช้เป็นฟืนเป็นแหล่งเชื้อเพลิงได้
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ใช้ รากและเมล็ด ขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะเหลือง หรือแดง แก้ไข้ ถอนพิษ ต้นและใบขับลมลงเบื้องต่ำ รักษาโรคเส้นเอ็นพิการ (อาการปวดเมื่อย เสียว ตามตัว ใบหน้า ศีรษะ) ฝักต้มหรือฝักสด แก้ท้องร่วง ใบ ใช้แก้ไอ แก้ท้องเสีย น้ำคั้นจากใบ ใส่แผลในปากหรือหู
ยาพื้นบ้าน ใช้ ทั้งต้น 1 กำมือ ต้มน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง รักษาอาการตกเลือด ไข้ทับระดู ทั้งฝัก รสมันเฝื่อนเล็กน้อย บำรุงร่างกาย บำรุงกระดูก เส้นเอ็น ราก รสเฝื่อน แก้ปัสสาวะพิการ แก้ปัสสาวะน้อย ขับปัสสาวะ ใบ ขับลมลงเบื้องต่ำ แก้เส้นเอ็นพิการ