ผู้เรียบเรียง: ไพโรจน์ อยู่มณเฑียร
จำนวนหน้า: 264 หน้า | ปกอ่อน
พิมพ์ครั้งที่: 2 — ปี 2562
แปลจากหนังสือ The Life and Philosophy of Kahlil Gibran
” 35 บท” ที่อยู่ใน “ปรัชญาน่าคิดของ คาลิล ยิบราน” แสดงทัศนะจากความรู้สึกและความคิดที่หลากหลายเมื่อเขามองดูชีวิต ความรัก สภาพสังคมด้วยนัยน์ตาที่สะท้อนมุมมองของเขาเอง ยิบรานได้รจนาบทประพันธ์เพื่อมนุษยชาติในสากลโลก ร้องขอความรักที่มนุษย์พึงมีต่อกันอันจะขจัดความเห็นแก่ตัว ความโลภ โกรธ หลงทั้งมวลลงได้
ปรัชญารักของเขาทำให้เขาข้ามพ้นพรมแดนระหว่างชาติต่อชาติ และการเหยียดผิว ตลอดชีวิตของยิบรานได้ยืนหยัดเพื่อมนุษยชน ช่วยเปิดตาของมนุษยชาติให้เห็นทั้งจุดของความอ่อนแอ และพลังแห่งความแข็งแกร่งในตน อีกทั้งพยายามแนะให้มนุษย์ได้ฝ่าฟันชีวิตที่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม และก้าวต่อไปข้างหน้า อาทิ
“ความหายนะของชาติบ้านเมือง หาได้เกิดจากน้ำมือของคนเล็กๆ ผู้ยากไร้ไม่ มีเพียงมือของผู้ปกครอง หรือคนรวยผู้มักมากเท่านั้นแหละ ที่จะฉีกทึ้งบ้านเกิดเมืองนอนของเขาได้”
“หากท่านอายเมื่อถูกคนยกย่อง แลสงบงันเมื่อถูกคนกล่าวร้าย นั่นแหละแน่ไซร้…คือคุณธรรมของผู้ปกครอง”
“ผู้นำใดยอมพลีกายให้เขาฆ่า ย่อมได้รับเกียรติมากกว่าเข่นสั่งฆ่าเขา”
“ล้มเหลวเพราะหน้าบาง ดีกว่าสำเร็จอย่างหน้าด้าน” ฯลฯ
นี่เป็นเพียงบางบทที่เอ่ยกล่าว ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่เนื้อหาพัวพันกับการดำเนินชีวิตของเราๆ ช่างน่าแปลกเสียกระไร ที่บทความเหล่านี้เขียนไว้ในอดีต แต่เนื้อหาที่อ่านนั้นประเหมือนหนึ่ง ยิบราน เพิ่งเขียนและตอกย้ำให้เรา คิด วิเคราะห์ สังเกต และแก้ไข เพือให้เรื่องต่างๆ ผ่านไปได้ด้วยดี