ลักษณะภายนอกของเครื่องยา :
ได้จากเกสรตัวผู้ของดอกบัวหลวง เก็บเมื่อดอกบานเต็มที่ แยกเอาเฉพาะเกสรตัวผู้ นำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม เมื่อแห้ง จะเป็นเส้นมีสีเหลือง และมีกลิ่นหอม รสฝาด เครื่องยาเกสรบัวหลวง พบว่ามีลักษณะภายนอกคือ เกสรมีลักษณะเป็นเส้นบางๆ ตรงกลางเห็นเป็นร่องลึกลงไป ขนาดความยาว 0.6-2 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.1 เซนติเมตร สีเหลืองอ่อน หรือสีน้ำตาลเหลือง ส่วนก้านชูเกสรตัวผู้ เป็นรูปทรงกระบอกยาว 1.5-1.8 เซนติเมตร สีม่วงอ่อนมีกลิ่นหอมเฉพาะ รสฝาด
สรรพคุณ :
ตำรายาไทย: เกสรบัวหลวง ใช้บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น บำรุงปอด บำรุงตับ บำรุงกำลัง คุมธาตุ แก้ล้ม แก้ไข้
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้เกสรบัวหลวง ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ ใน “ตำรับยาเขียวหอม” สรรพคุณ บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษสุกใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส), "ตำรับยาตรีเกสรมาศ" ปรากฎการใช้เกสรบัวหลวง ร่วมกับเปลือกฝิ่นต้น และลูกมะตูมอ่อน มีสรรพคุณ แก้อ่อนเพลีย ปรับธาตุในผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นจากการเจ็บป่วย เช่น ไข้ ท้องเสีย นอกจากนี้ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม ของกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า พิกัดตรีเกสรมาศ คือ จำนวนตัวยาเกสรทอง 3 อย่าง ได้แก่ เปลือกฝิ่นต้น เกสรบัวหลวง และลูกมะตูมอ่อน มีสรรพคุณ เจริญอาหาร บำรุงธาตุ คุมธาตุ บำรุงกำลัง แก้ท้องเดิน
ตำรายาจีน: ใช้แก้ปัสสาวะบ่อย แก้น้ำกามเคลื่อน (ฝันเปียก) แก้ตกขาว ประจำเดือนมามากกว่าปกติ เลือดกำเดาไหล และแก้อาการท้องเสีย
รูปแบบและขนาดยาที่ใช้ :
เมื่อใช้บำรุงหัวใจ เกสรปรุงเป็นยาหอมบำรุงหัวใจ บรรเทาอาการหน้ามืด วิงเวียนทำให้ชื่นใจ เป็นยาสงบประสาท ขับเสมหะ
1. เกสรบัวหลวงสด หรือแห้งประมาณ 1 หยิบมือ ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว (ประมาณ 240 มิลลิลิตร) ทิ้งไว้นาน 10-15 นาที ดื่มขณะที่ยังอุ่นอยู่ ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง
2. เกสรบัวหลวงแห้ง บดเป็นผงครั้งละ 0.5 -1 ข้อนชา ชงน้ำร้อนดื่มหรือใช้ในขนาด 3-5 กรัม